ปั๊มความร้อน เป็นตอนที่ 3 (ตอนจบ) ของบทความเรื่อง เครื่องทำน้ำร้อน มีกี่ประเภท ต่อจากคราวที่แล้ว
4. เครื่องทำน้ำร้อนแบบปั๊มความร้อน (Heat Pump) เป็นเครื่องทำน้ำร้อนที่ได้รับการยอมรับว่าประหยัดพลังงาน (ถ้าไม่ไปเทียบกับเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งฟรี) สามารถใช้ไฟฟ้า 1 หน่วยทำน้ำร้อนเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของเครื่องทำน้ำร้อนแบบไฟฟ้า 3-4 หน่วย หรือพูดง่าย ๆ ว่าประหยัดค่าไฟกว่า 3-4 เท่านั่นเอง ปั๊มความร้อนไม่ใช่ของใหม่ เป็นการกลับข้างการใช้ประโยชน์ที่ต่างกันของเครื่องปรับอากาศ โดยที่หลักการทำงานเหมือนกัน คือ ต้องมีน้ำยา เช่น R134a, R401a, R32 เป็นต้น การติดตั้งและเดินท่อซึ่งส่วนใหญ่ใช้ท่อทองแดงก็จะเป็นแบบเดียวกับเครื่องปรับอากาศ
สิ่งที่แตกต่างคือ กรณีเครื่องปรับอากาศ เราใช้ประโยชน์ของคอยล์เย็นเพื่อทำให้ห้องเย็น แล้วเอาความร้อนไปทิ้งนอกห้องผ่านคอยล์ร้อน ในขณะที่ปั๊มความร้อน เราใช้ประโยชน์ของคอยล์ร้อนในการทำให้น้ำร้อน ส่วนความเย็นจากคอยล์เย็นก็จะทำให้บริเวณรอบ ๆ เครื่องเย็น หรือเราสามารถต่อท่ออากาศนำเอาความเย็นไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน หลายคนอาจจะเคยได้ยินโฆษณาว่า เครื่องทำน้ำร้อนฟรีจากแอร์ โดยการดัดแปลงเครื่องคอยล์ร้อน เอาน้ำไปหมุนวน ซึ่งก็อาศัยหลักการของปั๊มความร้อน เพียงแต่กรณีนี้ เป็นการดัดแปลง ไม่ได้ออกแบบสำหรับทำน้ำร้อนโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากกรณีของปั๊มความร้อน ที่ระบบออกแบบมาเพื่อทำน้ำร้อนโดยเฉพาะ ประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์จะสูงกว่า
ข้อดีของปั๊มความร้อนคือ การประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าไฟ ข้อเสียคือ ราคาค่อนข้างสูง ต้องมีการติดตั้งโดยช่างเหมือนกับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งอย่างไรก็ตาม พัฒนาการของปั๊มความร้อนยังไม่หยุด ยังไปได้อีกไกล เช่น เครื่องทำน้ำร้อนแบบปั๊มความร้อนชุดสำเร็จ (Compact Set) ที่เราสามารถติดตั้งง่าย ๆ แบบ DIY ได้แล้ว (ตัวอย่างรูปข้างบน) เป็นต้น
คลิ๊กอ่านเครื่องทำน้ำร้อน มีกี่ประเภท (ตอนที่ 1/3)
คลิ๊กอ่านเครื่องทำน้ำร้อน มีกี่ประเภท (ตอนที่ 2/3)