จากการที่ผมได้คุยกับลูกค้าที่ผ่าน ๆ มา เจอะเจอคำถามหลาย ๆ คำถามที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการ เดินท่อ เช่น ท่อ PAP ใช้เดินท่อน้ำร้อนได้มั้ย ทนอุณหภูมิได้มั้ย ทนความดันได้มั้ย เดินฝังผนังได้มั้ย ใช้เดินท่อลมได้มั้ย เป็นต้น จึงขอรวบรวมเป็นประเด็นในแง่มุมต่าง ๆ ไว้ครับ
1. ท่อ PAP ใช้ทำอะไร เดินท่ออะไรได้บ้าง
ใช้เดินท่อของเหลว และแก๊สแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น น้ำร้อน น้ำอุ่น น้ำประปา น้ำเย็น (Chilled Water) น้ำหล่อเย็น (Cooling Water) ท่อให้ความอบอุ่น (อันนี้มีใช้ในเมืองหนาว คือบ้านเขาหนาว เขาก็ใช้เหมือนที่เรียกว่าเตาผิง ตรงข้ามกับบ้านเรา ที่ใช้เครื่องปรับอากาศ) เดินท่อน้ำแรงดันสูง ท่อลม ท่ออากาศอัด (Compressed Air) แก๊สหุงต้ม ท่อน้ำยาแอร์ ท่อน้ำมัน สารเคมีบางประเภท เป็นต้น กรณีท่อ PAP ของ MF Pipe เราผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่ ไม่ผสมเม็ดรีไซเคิ้ล เป็นชนิดที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์สัมผัสอาหารได้ (Food Grade) จึงปลอดภัย สำหรับกรณีเดินท่อน้ำดื่ม
2. แล้ว ท่อ PAP มันทนอุณหภูมิได้เท่าไหร่
กรณีท่อน้ำร้อน (ท่อสีส้ม) ทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -40 ºC จนถึง 95 ºC ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการเดินท่อน้ำร้อนจากเครื่องทำน้ำร้อนที่เป็นหม้อต้ม ทั้งแบบใช้ไฟฟ้าและใช้แก๊ส หรือเดินท่อน้ำร้อนจากเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์
กรณีท่อน้ำเย็น (ท่อสีขาว) แยกเป็นชนิดของไหลที่อยู่ข้างใน
• ใช้เดินท่อลม ท่ออากาศ ทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -30 ºC จนถึง 60 ºC
• ใช้เดินท่อน้ำประปา ท่อน้ำเย็น ท่อน้ำหล่อเย็น ท่อน้ำมัน ทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -40 ºC จนถึง 60 ºC (กรณีอุณหภูมิติดลบ อันนี้บ้านเราไม่น่าจะมีโอกาสได้เจอ เว้นแต่ว่าเอาไปใช้ในห้องเย็น)
กรณีท่อแก๊สหุงต้ม (ท่อสีเหลือง) ทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -20 ºC จนถึง 40 ºC
3. แล้ว ท่อ PAP มันทนความดันได้เท่าไหร่ล่ะ
ความดันใช้งานสูงสุด 10 บาร์ หรือ 1 เมกะปาสคาล หรือ 10 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร หรือความดันเฮด (ระยะส่งสูง) 100 เมตร การที่ท่อ PAP มันทนความดันได้สูงมากเมื่อเทียบกับผนังท่อที่บาง เป็นผลมาจากชั้นอลูมิเนียมที่อยู่ตรงกลาง โดยเป็นอลูมิเนียมอัลลอยชนิดที่มีความเหนียวสูง บวกกับผนังท่อชั้นในและนอกที่เป็นพลาสติกก็จะเสริมให้มันทนความดันได้เพิ่มขึ้น
ในกระบวนการผลิตท่อ PAP ของ MF Pipe จะมีความดันลม 5 บาร์อัดอยู่ด้านในตลอดเวลาตั้งแต่ท่อออกมาจากหน้าดายของเครื่องเอ็กทรูเดอร์ (เครื่องอัดรีดท่อ) ซึ่งยังร้อนอยู่ (150-170 ºC) ณ อุณหภูมิสูงขนาดนั้น พลาสติกจะไม่สามารถรับแรงอะไรเลย (มันยังเหลวอยู่) จึงเป็นการทดสอบการทนแรงดันของชั้นอลูมิเนียมอัลลอยล้วน ๆ ซึ่งก็ถือได้ว่า เป็นการคิวซี (ตรวจสอบคุณภาพ) 100% ว่ามีจุดรั่วซึมมั้ย เพราะถ้ามีจุด “ตามด” แม้แต่จุดเดียว ท่อจะแตก เครื่องจะร้อง (Alarm) เพื่อเตือนให้พนักงานคุมเครื่องผลิตเข้าไปแก้ไข ท่อที่รั่วจะต้องถูกตัดทิ้งไป จึงมั่นใจได้ว่า ท่อที่ส่งถึงมือลูกค้า ไม่มีจุดรั่วซึมแน่นอน
4. ประเด็นเกี่ยวกับการติดตั้ง การเดินท่อ
ควรตัดท่อด้วยกรรไกร หรืออุปกรณ์ที่ใช้ตัดท่อโดยเฉพาะ เพื่อให้รอยตัดตรง ไม่มีลักษณะเป็นเสี้ยน แนวตัดตั้งฉากกับท่อ ไม่เป็นขุย แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ และจำเป็นต้องใช้เลื่อย ก็ต้องทำการเก็บปลายท่อให้เรียบ ไม่เป็นขุย เช่น ใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียด ตะไบ ขัดให้เรียบ หรืออุปกรณ์ลบคมท่อ เป็นต้น ก่อนการติดตั้งกับข้อต่อ
เดินท่อ PAP โดยการดัดโค้งได้ ไม่ดีดตัวกลับ ไม่ต้องใช้ความร้อน ดัดได้ด้วยมือเปล่า ถ้ากรณีที่ต้องการดัดโค้งมาก ๆ ก็ใช้สปริงช่วย โดยสอดสปริงเข้าไป ณ จุดที่จะดัดโค้ง สปริงจะเป็นตัวกระจายแรง ไม่ทำให้ท่อจุดใดจุดหนึ่งพับเสียรูป กรณีที่จุดดัดโค้งอยู่ไกลจากปลายท่อมาก ๆ ก็ให้ใช้เชือกผูกสปริงไว้ แล้ววัดระยะเชือกให้ตรงกับจุดที่ดัดแล้วทำเครื่องหมายไว้ เมื่อใส่สปริงเข้าไป ก็จะตรงจุดที่จะดัดพอดี เมื่อดัดเสร็จ ก็ดึงเชือกพร้อมสปริงออกมา
ในทางทฤษฎี ท่อ PAP สามารถดัดโค้งได้สูงสุด ที่รัศมีความโค้งไม่น้อยกว่า 5 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางด้านนอกของท่อ (โดยต้องใช้สปริงช่วย ไม่งั้นท่อจะบี้พับเสียรูป) เช่น ท่อขนาด 1620 (5 หุน) ก็ดัดจนรัศมีความโค้งเหลือ 80 มม.ได้ แต่ในทางปฏิบัติ การวัดรัศมีความโค้ง หรือการกะด้วยสายตาก็ไม่ง่าย ก็ให้ดัดโดยสังเกตรูปทรงของท่อ อย่าดัดจนท่อเริ่มเสียรูป คือ ท่อมันเริ่มไม่กลมแล้ว ก็ให้หยุด เพราะถ้าดัดจนท่อเริ่มบี้ รอยเชื่อมของชั้นอลูมิเนียมที่อยู่ตรงกลางอาจจะเริ่มปริ จนอาจเป็นปัญหาการรั่วซึมในอนาคตได้
หมายเหตุคือ อย่าดัดหักศอก 90 องศานะครับ ถ้าต้องเดินท่อหักศอก เช่น เดินท่อ เข้ามุมห้อง ผมแนะนำให้ใช้ข้อต่อที่เป็นข้องอ 90 องศาดีกว่าครับ แต่ก็อีกนั่นแหละ จุดเด่นของท่อ PAP คือ มันมาเป็นม้วน ดัดโค้งงอไปมาหลบสิ่งกีดขวางได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ข้องอ ดังนั้น การดัดโค้งโดยหลีกเลี่ยงการใช้ข้องอ นอกจากจะลดต้นทุนของข้อต่อและค่าติดตั้งแล้ว ยังลดจุดความดันตก (Pressure Drop) ซึ่งก็จะทำให้เราได้ปริมาณและความดันแบบเต็ม ๆ มากกว่า อีกทั้งลดจุดอ่อนที่อาจจะทำให้เกิดการรั่วซึมอันเนื่องมาจากการติดตั้งได้ด้วย เช่น กรณีเข้ามุมห้อง ก็ให้เซาะร่องเข้าไปลึกนิดนึง แล้วกลบปิดด้วยคอนกรีตหนาหน่อย
การติดตั้งหรือ เดินท่อ ที่ถูกต้อง มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ปัญหากว่า 80% ของท่อรั่วซึมหลังการติดตั้ง หรือเมื่อใช้งานไปเป็นเวลานาน (ของท่อแทบทุกชนิด ไม่เฉพาะท่อ PAP) มักเกิดจากปัญหาการติดตั้งแทบทั้งสิ้น ใช่เลยครับที่ท่อ PAP เหมาะมากสำหรับงาน DIY ที่ใคร ๆ ก็ติดตั้งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นช่างที่ชำนาญงาน แต่ผมก็แนะนำให้ศึกษาคู่มือ หรือวิธีติดตั้ง แล้วปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดครับ เพื่อการใช้งานในระยะยาว อย่างสบายใจ
ศึกษาวิธีติดตั้งได้ที่นี่ครับ คลิ๊กดูวิธีการติดตั้งท่อ PAP
5. จะต่อเชื่อมกับท่อชนิดอื่นได้มั้ย ทำยังงัย
ท่อ PAP สามารถ เดินท่อ ต่อเชื่อมกับท่อทุกชนิดได้ครับ โดยใช้ข้อต่อที่เป็นเกลียว โดยที่ฝั่งนึงจะต่อกับท่อ PAP ส่วนอีกฝั่งจะเป็นเกลียวนอกหรือเกลียวในไว้ต่อกับท่อชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นข้อต่อตรงเกลียวนอก ต่อตรงเกลียวใน ข้องอเกลียวนอก งอเกลียวใน สามทางเกลียวใน (มี 2 ฝั่งต่อกับท่อ PAP ตรงกลางเป็นเกลียวใน) ทีนี้ ฝั่งที่เป็นท่อชนิดอื่น ก็ทำให้เป็นเกลียว (นอกหรือใน) หรือใช้ข้อต่อที่เป็นเกลียว ยกตัวอย่างเช่น ต่อกับท่อพีวีซี โดยอาศัยข้อต่อตรงเกลียวนอก ฝั่งท่อ PAP ก็ต่อปลายเป็นเกลียวนอก แล้วเราก็หาข้อต่อพีวีซีที่เป็นต่อตรงเกลียวในมาขันเข้ากับเกลียวนอกครับ