รายละเอียด
ข้องอ PAP MF L1216x1216 ใช้สำหรับติดตั้งกับท่อขนาด 1216 (16 มม.) ทั้ง 2 ด้าน
ขนาด 1216 (16 มม.) เทียบเท่าท่อทั่วไปคือ 3/8″ (3 หุน)
ขนาด 1216 ตามในมาตรฐาน ASTM F1282 คือ 1/2″ (4 หุน)
ข้อต่อพลาสติก PAP MF ผลิตจากไนล่อน แข็งแรง ทนทาน ติดตั้งง่าย เร็ว ใช้แรงขันอัดน้อย ใคร ๆ ก็ทำได้ และกันรั่วซึมได้ดีกว่าแบบทองเหลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีท่อน้ำร้อน แนะนำให้เลือกใช้แต่ข้อต่อแบบพลาสติกเป็นหลัก
เหตุผลเนื่องจาก ท่อ PAP มีส่วนประกอบหลักเป็นพลาสติก (ชั้นตรงกลางเป็นอลูมิเนียม) จึงเข้ากันได้ดีกับข้อต่อพลาสติกมากกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นใกล้เคียงกัน (ภาษาช่างเรียกว่า ให้ตัวได้พอ ๆ กัน) เมื่อติดตั้งเข้าด้วยกัน ก็จะมีความแนบสนิทกันรั่วซึมได้ดีกว่าข้อต่อแบบทองเหลือง
ข้อต่อ PAP MF ใช้ได้ทั้งกรณีเดินลอย นอกผนัง และเดินฝังในผนัง หรือฝังดิน
ท่อ PAP มาเป็นม้วน ตัดตามความยาวที่ต้องการ ไม่ต้องใช้ข้อต่อตรงเลย
ท่อ PAP ดัดโค้งได้ ไม่ต้องใช้ข้องอ นอกจากจะประหยัดค่าข้อต่อแล้ว ที่สำคัญกว่าคือ ไม่ทำให้เกิดแรงดันตก หรืออัตราการไหลลดลง (ข้องอ อาจจะทำให้เกิดแรงดันตก อัตราการไหลลดลง)
ข้องอ จะใช้ก็ต่อเมื่อ มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น กรณีเดินท่อทะลุผนังปูน ด้วยการเจาะรูเล็ก ๆ (เนื่องจากการร้อยท่อ PAP ที่มีความยาว ผ่านรูเล็ก ๆ ทำได้ค่อนข้างยาก) เป็นต้น
กรณีอื่น ๆ เช่น การเดินท่อเลี้ยวโค้งในระนาบเดียวกัน (เช่น ผนังฝั่งเดียวกัน) มุมในของผนัง หรือแม้แต่มุมนอกของผนัง ก็สามารถดัดโค้งได้
คลิกอ่านบทความเกี่ยวกับการดัดโค้งท่อ
กรณีดัดโค้งกว้าง ๆ ก็สามารถทำได้ด้วยมือเปล่า เพียงแค่กระจายแรง ค่อย ๆ ดัด อย่าดัดหรือหักทันทีทันใด เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อบี้หรือพับก็พอ
แต่กรณีถ้ามีการดัดโค้งแคบ ๆ จำเป็นต้องใช้สปริงดัดท่อ โดยที่มีทั้งแบบสอดในท่อ และสวมนอกท่อ
สปริงแบบสอดในท่อ จะใช้ดัดได้เฉพาะปลายท่อ ส่วนสปริงสวมนอกท่อ จะมีประโยชน์มาก สามารถดัดได้ทุกส่วนของท่อเลย
การติดตั้งข้อต่อ PAP MF ต้องใช้อุปกรณ์บานท่อ จัดรูในของปลายท่อให้กลมทุกครั้ง ทั้งที่เป็นการติดตั้งครั้งแรก หรือมีการถอดข้อต่อที่ติดตั้งไปแล้วออกมาแล้วติดตั้งใหม่ เพื่อที่ตอนเอาแกนในของข้อต่อมาเสียบกับท่อแล้ว ปลายท่อไม่ขูดแหวนซีลซิลิโคนจนปลิ้นหรือฉีกขาด
ข้อต่อ PAP MF (ชนิดพลาสติก) สามารถใช้แค่อุปกรณ์บานท่อแบบธรรมดาก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้แบบที่มีลบมุมปากท่อ แต่ถ้าจะลบมุมปากท่อด้วย ก็จะทำให้คุณภาพการติดตั้งดียิ่งขึ้น
ตอนเสียบท่อเข้ากับแกนในของข้อต่อ ต้องดันท่อให้สุด ให้ปลายท่อชนบ่าในของข้อต่อ
ตอนใส่แหวนล็อค (แหวนสีขาว ที่มีด้านนึงเป็นแฉก ๆ) ต้องใส่ให้ถูกด้าน โดยที่ ต้องหันด้านที่เป็นแฉก ๆ ไปทางปลายท่อเท่านั้น ถึงจะทำให้ตอนที่รูดฝาเกลียวมาขันอัด ตัวฝาเกลียวจะดันให้ ปลายแหวนล็อคที่เป็นแฉก ๆ จิกและบีบอัดท่อ ให้แนบกับแกนในของข้อต่อ แบบนี้ถึงจะถูกต้อง และไม่รั่วซึมตลอดอายุใช้งาน
วิธีการอ่านโค้ดสินค้า (Product Code):
S = ต่อตรง
L = ข้องอ
T = สามทาง
1216 = ใช้ต่อกับท่อ ขนาด 1216
1620 = ใช้ต่อกับท่อ ขนาด 1620
2025 = ใช้ต่อกับท่อ ขนาด 2025
2632 = ใช้ต่อกับท่อ ขนาด 2632
1/2″ = เกลียวประปา (BSP) ขนาด 1/2″ (4 หุน)
3/4″ = เกลียวประปา (BSP) ขนาด 3/4″ (6 หุน)
1″ = เกลียวประปา (BSP) ขนาด 1″ (1 นิ้ว)
M = เกลียวนอก
F = เกลียวใน